เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565
เรื่อง การเจริญวิปัสสนาญาณ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
ท่านที่เข้ามาแล้ว ก็ขอให้กำหนดจิต ทำสมาธิตามกำลังสูงสุดที่เราทำได้ก่อน วางอารมณ์ใจสบายๆ วางอารมณ์จิตของเราให้ผ่องใส วางอารมณ์สบายๆ อยู่กับลมหายใจสบาย อยู่กับอารมณ์จิตสบายๆ ใจแย้มยิ้มเบิกบานจากภายใน กำหนดจิตของเราให้เป็นเพชรประกายพรึก ให้จิตของเราประภัสสร จิตแย้มยิ้มเบิกบาน เมื่อจิตเบิกบานผ่องใสดีแล้ว เรากำหนดต่อไป เห็นจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก ที่เป็นแก้วเป็นเพชรสว่างนั้น ค่อยๆปรากฏภาพ องค์พระพุทธรูป เป็นภาพนิมิตที่จิตของเราเชื่อมโยงถึงพระพุทธองค์ ภาพพุทธนิมิตของพระพุทธองค์ ปรากฏชัดเจนเป็นเพชรประกายพรึก มีฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าครอบคลุมมาทั่วกายทั่วจิต อารมณ์ของเรา จิตจดจ่ออยู่กับภาพพุทธนิมิตนั้น
ขึ้นชื่อว่าเรากำลังทรงอยู่ในพุทธานุสติกรรมฐานควบกับอาโลกสิณ อันเป็นบาทฐานของอภิญญาสมาบัติ อันเป็นบาทฐานของวิชามโนมยิทธิ ทรงภาพองค์พระที่เป็นเพชรประกายพรึก จิตน้อมเชื่อมโยงภาพนิมิตกับกระแสของพระพุทธองค์ กำหนดน้อมว่าภาพพุทธนิมิตนั้น มีกระแสพุทธบารมีของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ใจของเรา น้อมให้เห็นกายอีกกายหนึ่ง น้อมกราบพระพุทธองค์ ความรู้สึกของเราจดจ่ออยู่ที่กายที่เป็นกายทิพย์ที่กราบพระพุทธเจ้านั้น กำลังใจของเราในขณะที่กำหนดรู้สึกในความเป็นกาย กายที่บรรจงกราบลงแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธเจ้า กำลังที่แยกกายออกมากราบพระพุทธเจ้าได้นั้น คือกำลังที่เรียกตามภาษาบาลีเต็มๆว่า มโนมัยฤทธิ์ คือกำลังความเป็นทิพย์ มโนมยิทธิใช้ฤทธิ์ทางใจ ยกกายทิพย์ ยกอาทิสมานกาย มากราบพระพุทธองค์ กำลังใจในการฝึกของมโนมยิทธินั้น หัวใจสำคัญก็คือจิตมีความศรัทธาตั้งมั่น จิตไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ ไม่สงสัยว่าจิตเรากราบพระพุทธเจ้าได้จริงหรือไม่ จิตไม่สงสัยว่าเป็นการคิดไปเองหรือเปล่า จิตที่เราไปกราบนั้น เรากำหนดน้อม เราใช้กำลังใจ เราใช้กำลังของสมาธิ ไปกราบพระพุทธองค์ ในขณะที่กราบ จิตสะอาดจากนิวรณ์ 5 ประการ ปราศจากความลังเลสงสัยทั้งปวง เต็มกำลังของฌานสมาบัติ
ในเรื่องของความลังเลสงสัยนั้นมันมีความสำคัญ 2 ส่วน บางคนในขณะที่ฝึก ไม่มีความลังเลสงสัย บางคนระหว่างที่ฝึกมีความลังเลสงสัย บางคนในระหว่างที่ฝึกไม่สงสัยก็จริง แต่หลังจากฝึกเสร็จออกจากฌาน ออกจากสมาธิ ไม่มีกำลังของฌาน 4 กลับมารู้สึกลังเลสงสัย ว่าที่ฝึกไปแล้ว จริงหรือไม่ ได้ผลหรือไม่ เป็นคิดไปเองหรือไม่ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ความลังเลสงสัยเกิด ไม่ว่าจะระหว่างที่เราฝึกปฏิบัติก็ดี หรือหลังการปฏิบัติก็ดี หากลังเลสงสัยซะแล้ว คือมีวิจิกิจฉาซะแล้ว การปฏิบัติก็มีความถดถอยลง หรือกำลังฌาน กำลังสมาธิ กำลังมโนมยิทธิที่ได้ ก็กลายเป็นเสื่อมไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หากจิตของเรามีปัญญารู้แจ้ง ชัดเจนอยู่ เราก็จะระมัดระวังใจของเรา ในเรื่องของความศรัทธา ความตั้งมั่นของจิต ให้จิตเรามีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติ
เวลาที่เราฝึกมโนมยิทธิ ถ้าหากใครสังเกต พระคือพระเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี เทวดาพรหมทั้งหลายก็ดี ท่านช่วยท่านสงเคราะห์เต็มที่เต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราฝึกใหม่ๆ ถ้าใครสังเกตดู จะเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ยืนยันบ้าง เกิดเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ มาช่วยยืนยันบ้าง เกิดเรื่องราวที่เกิดคุณสมบัติวิเศษต่างๆในการปฏิบัติเช่นการรู้วาระจิตบ้าง ได้ยินเสียงทิพย์โสตบ้าง ได้กลิ่นหอมของธูป ของดอกไม้ต่างๆมาปรากฏให้สัมผัสบ้าง หรือธรรมะต่างๆที่ปรากฏต่อใจเรา เป็นธรรมะที่ตรงกับวาระจิตบ้าง บางครั้งสิ่งที่อาจารย์สอน สิ่งที่อาจารย์จะพูด เรากำหนด เรารู้ขึ้นมาในจิตของเราก่อนว่าอาจารย์จะพูดอะไร จะสอนเรื่องอะไร หรือแม้แต่ตรงกับวาระจิตว่า เราสงสัยตรงจุดไหน อาจารย์ก็พูด ก็สอน ไปบอกตรงกับวาระจิตของเราพอดี
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าอุปมาใช้ภาษาทางโลกก็เรียกว่า “ช่วง” เป็นช่วงเริ่มต้น มีโปรโมชั่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายท่านเมตตาสงเคราะห์เป็นพิเศษ เพื่อให้เรามีความศรัทธา มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย จนกระทั่งจิตปราศจากความลังเลสงสัย ให้เราย้อนนึกดูว่าเมื่อมีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์มายืนยัน นั่นแปลว่าเป็นเรื่องจริง เมื่อศรัทธาเราเพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ เรื่องอภิญญาต่างๆที่มันปรากฏ เป็นไปเพื่อยังศรัทธาให้ตั้งมั่นในจิตของเรา เมื่อเราฉลาดรู้จักใช้ปาฏิหาริย์ รู้จักใช้อภิญญามาสร้างศรัทธา กำลังใจที่เรามีความศรัทธามั่นคงเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติ เพื่อมรรคผลพระนิพพาน ก็ยิ่งมีความตั้งมั่นตามไปด้วย
ดังนั้นยิ่งปฏิบัติมาถึงจุดหนึ่ง ถ้าใครถอยไป เกิดวิจิกิจฉา ไปสงสัยในการปฏิบัติบ้าง ไปสงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง อันนี้ถือว่าเป็นการผิดพลาด เป็นการถดถอยในการปฏิบัติอย่างแรง ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติธรรม จงจำไว้ว่าในจิตของผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้น ในเรื่องของปัญญาและศรัทธา จำเป็นที่จะต้องมีกำลังที่แก่กล้ามากขึ้น พละ 5 ตบะอินทรีย์ พละศรัทธา พละปัญญา วิริยะทั้งหลาย ต้องมีความตั้งมั่นแก่กล้าเพิ่มขึ้น ตรงจุดนี้ เป็นจุดที่เราแต่ละบุคคลควรที่จะต้องน้อมพิจารณาดูจิตของเรา ดูอารมณ์ใจของเราเป็นสำคัญ ศรัทธาในการปฏิบัติต้องเพิ่มขึ้น ศรัทธาในพระพุทธเจ้าต้องเพิ่มขึ้น ศรัทธาในกำลังใจว่าเราสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ยิ่งปฏิบัติในแต่ละวัน กำลังใจความมั่นคงว่าเราสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ ต้องมีเพิ่มขึ้น เข้มข้นขึ้น ตามลำดับเสมอ
น้อมใจเราให้ผ่องใสเห็นภาพพระพุทธองค์ปรากฏสว่างไสวชัดเจน กำหนดตั้งจิตอธิษฐาน ขออาทิสมานกายของเรา จงเปลี่ยนปรากฏเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ และน้อมจิตเชื่อมโยงกับพุทธนิมิต ภาพพระพุทธเจ้าไว้เสมอว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราน้อมนึกถึงพระพุทธเจ้า เราควบอารมณ์ว่าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กำลังใจของเราก็จะเข้มข้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ว่ากำลังใจของเรานอกเหนือจากการทรงกำลังของมโนมยิทธิ คือกำลังแห่งพุทธานุสติและอาโลกสิณ แต่ยังเป็นกำลังที่ควบกับกรรมฐาน ที่เรียกว่า อุปมานุสติกรรมฐาน คืออารมณ์พระนิพพาน แนบ พร้อม เป็น 3 กรรมฐานควบกองอยู่ไปด้วย ยิ่งเรากำหนดใจควบกรรมฐานควบกองไว้เช่นนี้ การปฏิบัติของเรา ก็นับว่าทุกครั้งที่ทรงจิตถึงพระพุทธเจ้า เราอยู่กับพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน อารมณ์ของเราก็มีอารมณ์ควบกับอารมณ์วิปัสสนาญาณไปด้วยพร้อมกัน เพราะเมื่อไหร่ที่จิตเราอยู่บนพระนิพพาน เมื่อนั้นจิตของเราสงบ สงัด จากความโลภ ความโกรธ ความหลง สงบ สงัด จากนิวรณ์ 5 ประการ สงบ สงัด ปลอดจากสังโยชน์ 10 ที่ร้อยรัดจิตเราไว้กับภพภูมิทั้งหลาย กำหนดใจของเราไว้เสมอ ควบกำลังสูงสุด อยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพาน กำหนดอาทิสมานกายของเราตอนนี้ เป็นกายพระวิสุทธิเทพ นั่งอยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้ว สว่าง
กำหนดจิตน้อมปฏิบัติอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์บนพระนิพพาน น้อมกระแสของพระพุทธองค์ รวมลงสู่จิต สู่อาทิสมานกายของเรา กำหนดในอารมณ์พระนิพพานไว้ “นิพพานัง ปรมังสุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จนจิตของเราเกิดความแช่มชื่นเบิกบาน จนจิตของเรามีความเบิกบาน เอิบอิ่ม ยิ้มแย้มจากภายใน จิตปลอดโปร่ง โล่ง เบาอย่างยิ่ง
เมื่อทรงอารมณ์ความสงบในอารมณ์พระนิพพานแล้ว ในวันนี้ก็ให้เราน้อมจิต พิจารณาเจริญในวิปัสสนาญาณ การเจริญวิปัสสนาญาณ คือการเจริญปัญญาในสมาบัติ เจริญปัญญาในสมาธิ ซึ่งจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ การเจริญวิปัสสนาญาณ ในแต่ละสถานที่ มีผลในการปฏิบัติแตกต่างกัน เราอยู่ในสถานที่ที่มีแรงกระทบสูง มีคลื่น มีกระแสจิตของความวุ่นวายสูง ปัญญาหรือกระแสจิตที่พิจารณาธรรมก็อาจจะมีกำลังน้อย แต่ยังดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติเลย บางสถานที่ที่กายเนื้อเราไปปฏิบัติเช่น ในถ้ำบางแห่ง ที่มีกระแสของครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยบรรลุมรรคผล ณ สถานที่นั้น เคยเจริญกรรมฐาน ณ สถานที่นั้น จุดสถานที่ต่างๆ นั้นจะมีพลังงาน จะมีกระแสจิต จะมีแรงครูบาอาจารย์ จะมีคลื่นของกระแสจิตที่ถูกบันทึกไว้ เวลาที่เราไปปฏิบัติ ณ จุดนั้นที่นั้น
เราจะพบว่าการเจริญวิปัสสนาญาณ หรือการทรงฌานสมาบัติให้เข้าจิตสู่สมาธิ มันมีความรวดเร็วกว่าสถานที่อื่น สถานที่นั้นก็เรียกว่าเป็นที่สับปายะ สำหรับฝึก สำหรับปฏิบัติ จุดนี้เป็นจุดที่เราเอากายเนื้อไปฝึก มีผล มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติจริง ซึ่งครูบาอาจารย์ทางสายพระป่า ทางสายกรรมฐานหลวงปู่มั่น มักจะธุดงค์ไปในเขตต่างๆ ในถ้ำต่างๆ ที่มีการบอกกล่าวกันในครูบาอาจารย์ หมู่นักปฏิบัติว่าสถานที่นี้ภาวนาดี สถานที่นี้ภาวนาแล้วจิตรวมได้เร็ว สถานที่นี้รวมแล้วปัญญาเกิด พิจารณาจนสามารถบรรลุธรรมได้ ตรงจุดนี้เป็นเรื่องของกายเนื้อ แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรม การที่เรายกจิตอาทิสมานกายไปฝึก ไปปฏิบัติในจุดต่างๆ ในแต่ละสถานที่ก็มีผลของกระแสจิตที่ทำให้เราพิจารณาธรรม เข้าสู่สมาธิได้แตกต่างกันด้วยเช่นกัน
ซึ่งในภาคของการฝึกในเมตตาสมาธิ เราจะกล่าวถึงการน้อมนำอาทิสมานกายของเราไปฝึกไปปฏิบัติตามจุดต่างๆ อย่างผู้ที่ฝึก ผู้ที่เรียนมา หลายๆคนก็มีการเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องครู ก็มีการฝึกยกอาทิสมานกายไปฝึกสมาธิอยู่กับพระอุปคุตที่สะดือทะเลในเมืองบาดาลบ้าง ยกจิตไปในสถานที่ต่างๆในวัดวาอารามต่างๆบ้าง หรือบางครั้งก็กำหนดจิตไปปฏิบัติสมาธิบนพระจุฬามณีเจดีย์สถาน หรือแม้แต่ไปเวียนเทียนในวันในวาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา การไปเจริญฌานสมาบัติ อยู่เบื้องหน้าท่านท้าวสหัมบดีพรหมบนพรหมโลกบ้าง แต่จุดในการปฏิบัติที่ดีที่สุดก็คือ น้อมจิต ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน มาอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ อยู่เบื้องหน้าพระอรหันต์ทุกพระองค์ เพราะกระแสจิต กระแสของพระพุทธเจ้าที่บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว กระแสจิตของพระอรหันต์ขีณาสพของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่บรรลุถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว คลื่นจิต กระแสจิต กระแสพระนิพพาน มีกำลังเต็มอัตราอยู่ เราไปน้อมจิตพิจารณาธรรม ณ สถานที่นั้น กระแสธรรมก็มีการเสริม มีกำลังมาสนับสนุน ให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าขึ้น ตรงจุดนี้ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเข้าใจลึกซึ้งถึงประโยชน์ของการที่เราได้มโนมยิทธิ เมื่อไหร่ที่จิตเราพิจารณาแล้วมีข้อติดขัด ญาณเครื่องรู้ ความรู้ ความเป็นทิพย์จากครูบาอาจารย์ จากพระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ จากพระพุทธองค์ ก็จะตอบ ก็จะผุดรู้ขึ้นมาในจิต ในขณะที่เราพิจารณาธรรมนั้น
ดังนั้นธรรมะก็จะมีความกระจ่างกว่า สำหรับเราที่ฝึกกันมานานพอสมควรแล้ว หากเป็นไปได้ ควรจะต้องยกจิตมาปฏิบัติ ยกจิตขึ้นมาฝึกพิจารณาวิปัสสนาญาณบนพระนิพพานไว้เสมอ ให้เป็นปกติ แล้วก็ทุกครั้งในการปฏิบัติที่เรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ก็ควรที่จะต้องทบทวนอารมณ์พระนิพพาน
ทบทวนอารมณ์อย่างไร ทบทวนอารมณ์ใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือพิจารณาว่าอารมณ์จิตเมื่อเราขึ้นมาอยู่บนพระนิพพานแล้ว จิตของเราปราศจากความห่วง ความเกาะ ความยึดในร่างกาย จิตของเราปราศจากความอาลัย ความเกาะเกี่ยวในความสุข ในภพภูมิต่างๆ อันเป็นสุคติภูมิ นับตั้งแต่ความสุข ความปรารถนา ในสวรรค์สมบัติหรือพรหมสมบัติ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของทุคติภูมิ ทุกข์ที่เป็นความทุกข์ เราเป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาภพอันเป็นทุคติภูมิอยู่แล้ว
แล้วส่วนต่อมาก็คือ พิจารณาในอารมณ์ความสุขของพระนิพพาน ความสุขของพระนิพพานก็คือ อารมณ์จิตที่กิจทั้งหลายจบสิ้นแล้ว จิตของเราไม่ต้องเสวยกรรมเสวยวิบากใดอีกแล้ว การเกิดของเราหมดแล้ว ทุกข์ทั้งหลายดับลงอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีเชื้อแห่งการเกาะเกี่ยว อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง จากนั้นก็น้อมใจในอารมณ์ความสุขของพระนิพพาน ภาวนาบริกรรม “นิพพานัง ปรมังสุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ แช่อารมณ์นี้ไว้ จนเป็นสมาบัติ อันนี้คืออารมณ์ที่เราควรจะต้องทรงไว้ให้เป็นปกติ เข้าสมาธิคนอื่นเขาอาจจะมีความวุ่นวายจิต เข้าสมาธิไม่ได้ หรือเข้าได้เพียงอารมณ์ของปฐมฌาน อยู่กับคำภาวนา บางคนจิตรวมเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ บางคนทรงจิตเป็นอภิญญา เห็นจิตเป็นแก้วประกายพรึก ประคองจิตนิ่งเป็นประกายพรึกอยู่ภายในฐานรวมจิตบริเวณท้องอยู่ แต่จิตที่ทรงกำลังสูงสุดก็คือทรงอารมณ์พระนิพพาน เพราะถึงพร้อมซึ่งความตั้งมั่น ถึงพร้อมซึ่งอารมณ์ใจที่บริสุทธิ์ สะอาดปราศจากกิเลส อารมณ์จิตซึ่งเมื่อไหร่ที่เราตายเราเข้าถึงพระนิพพานเมื่อนั้น
แต่สำหรับบุคคลที่ทรงในกำลังสมาธิ จับคำภาวนาอยู่ ขาดใจตายตอนนั้น อารมณ์จิตอยู่ในปฐมฌาน ก็ไปเป็นพรหมในชั้นที่ 1 หากอารมณ์จิตเข้าถึง ฌาน 4 เอกัคคตารมณ์ก็ไปพรหมชั้นที่ 4 บ้าง ไล่ขึ้นไป หากอารมณ์ละเอียดก็ไปถึงพรหมชั้นที่ 8 ชั้นที่ 16 แล้วแต่ความละเอียด ความประณีตของจิต หากอารมณ์จิตไปติดในความว่าง อรูปสมาบัติ ไปติดในอนัตตาความว่าง ไม่เกาะ ไม่ยึดในตัวตนต่างๆ โลก จักรวาลทั้งหลาย รูปทั้งหลาย สลาย โดยกำหนดเป็นความว่าง ไม่ได้กำหนดพระนิพพาน จิตก็ไปเกิด ไปเสวยผลอยู่ในอรูปพรหม ตามความละเอียด ตามอารมณ์ของอรูปพรหม อรูปสมาบัตินั้นๆ ดังนั้นอารมณ์จิตที่เราควรทรงไว้ให้เป็นปกติ ให้จิตเป็นฌาน ให้จิตอิ่ม ให้จิตเป็นเนื้อเดียวกับอารมณ์นั้นก็คือ ทรงอารมณ์พระนิพพานเสมอ ถามว่าอารมณ์พระนิพพานเป็นอารมณ์ที่ยากไหม จริงๆแล้วเป็นอารมณ์ที่มีความสุข เป็นอารมณ์ที่มีการปล่อยวางจากภพภูมิต่างๆ อารมณ์จิตก็เพิ่มขึ้นจากอารมณ์ที่เราทรงไว้ในพุทธานุสติ และอาโลกสิณในกำลังของมโนมยิทธิ เป็นอารมณ์ที่ควบกับการยกอาทิสมานกายทำความรู้สึกว่ากายทิพย์มาอยู่กับพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากเกินกำลัง แทบทุกคนที่ฝึกที่ปฏิบัติก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จิตมีความเชื่อมั่นอย่างเดียวว่าเราอยู่กับพระพุทธเจ้าได้ จิตถึง กระแสถึง อาทิสมานกายเราก็ย่อมถึงซึ่งพระนิพพาน จิตเราไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ จิตเราก็ย่อมถึงซึ่งพระนิพพาน
ตอนนี้ให้เราทุกคนกำหนดอาทิสมานกาย อยู่บนดอกบัวแก้วบนพระนิพพานสว่างชัดเจนอยู่ จิตยินดีในอารมณ์เช่นนี้ จิตมีปัญญา พละปัญญา รู้เท่าทันผลแห่งการปฏิบัตินี้ จากนั้นพิจารณาตัดกายเนื้อร่างกายซ้ำบนพระนิพพาน พิจารณาลอกให้ลึก พิจารณาบุคคลอันเป็นมนุษย์บนโลก พิจารณาให้เห็นเปลือกทุกสิ่งอย่างลึกซึ้ง ในความเป็นมนุษย์ทั้งหลาย ให้เราน้อมจิตพิจารณาตาม มีเปลือกห่อหุ้ม มีหัวโขนที่สวมใส่ เปลือกที่ว่าก็มีตั้งแต่ สิ่งที่เราไปยึดว่าเป็นหน้าที่การงาน สิ่งที่เราไปยึดในวุฒิการศึกษา กลายเป็นมานะทิฐิ เปลือกที่เป็นมานะทิฐิ นั่นก็คือ ความรู้ความเป็นด็อกเตอร์ เกียรติยศต่างๆ ฉันเป็นนายพล ฉันเป็นนายพัน ฉันเป็นรัฐมนตรี ฉันเป็นสส ฉันเป็นผู้อำนวยการ ฉันเป็น VVIP ฉันเป็นคนนั้น ฉันเป็นคนนี้
ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเปลือก เป็นสิ่งที่สมมุติในชาตินั้น ตายไปแล้วเราก็ไม่อาจที่จะหาบหามไปได้ หรือแม้แต่ในวาระที่ยังมีชีวิตอยู่ หากพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ หากพ้นจากสมมุติ หากถึงวันเวลาที่เกษียณอายุ สิ่งต่างๆที่เป็นอำนาจ ที่เป็นเปลือก ที่เราแบก ที่เราห่อหุ้มไว้ ก็สลายจากสมมุตินั้น ให้เราพิจารณาว่าเปลือกทั้งหลายเหล่านี้ ใจเราวางลงได้ไหม ทรัพย์สินเงินทองความมั่งคั่งร่ำรวยที่เราแบกว่าเรารวย เรามีมากกว่าคนอื่น เราเป็นมหาเศรษฐี เราเป็นอภิมหาเศรษฐี ฉันรวยกว่าเธอ ฉันรวยกว่าเขา เปลือกที่เราแบกเช่นนี้ก็ให้เราพิจารณา ว่าเหมือนกับปูเสฉวนที่แบกเอาเปลือกหอยอันมีน้ำหนักแบกไว้กับใจของเรา ปูเสฉวนมันต้องแบกหนักกว่าตัวมันก็ทนแบกไป อาศัยยึด อาศัยเกาอยู่ จิตของเราก็มีเปลือกเช่นนั้นอยู่เช่นกัน
กำหนดวาง สลาย ว่าใจของเราเป็นคนธรรมดา จิตของเราไม่แตกต่าง จิตของเรา จิตของคนอื่น ล้วนแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พิจารณาว่าในความใหญ่ ในเกียรติยศ ในสมมุติ อำนาจ วาสนาและเงินตราทั้งปวง ตราบที่เรายังเวียนว่ายตายเกิด บุคคลอื่นก็อาจจะถึงเวลาวาระที่หมุนเวียน บุญส่งผลมารวยกว่าเรา มามีเกียรติยศมากกว่าเรา มามียศศักดิ์สูงกว่าเราก็เป็นได้ ในขณะเดียวกัน ตัวเราก็อาจจะหมุนเวียนไปมียศศักดิ์ที่ต่ำกว่าเดิม ทรัพย์สินน้อยกว่าเดิม ความยอมรับนับถืออำนาจวาสนาน้อยกว่าเดิมก็เป็นได้ ทุกอย่างตราบที่เรายังอยู่ในวัฏสงสาร มีขึ้น มีลง มีการแปรเปลี่ยน มีการหมุนเวียนตำแหน่งหน้าที่ หมุนเวียนไปมา ขึ้นลงไม่มีที่สิ้นสุด หรือสูงต่ำกว่านี้ก็คือ ยังมีการหมุนเวียน เวียนว่ายตายเกิดในภพที่สูงและภพที่ต่ำ หากเราพลาดไปจุติเป็นอรูปพรหม ใช้บุญจนหมด ต่อบุญต่อบารมีไม่ได้ ก็ต้องร่วงหล่นไปรับผลกรรมทั้งหมดในอบายภูมิ แล้วก็เริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ใช้บุญจนหมดแล้วก็ใช้บาปจนหมด แล้วก็นับหนึ่งใหม่ เริ่มต้นสร้างบารมีสะสมความดี สะสมทั้งกุศลและอกุศลเวียนว่ายตายเกิดกันใหม่ ดังนั้นตราบใดที่ยังอยู่ในวัฏสงสาร เราอยู่ในความไม่เที่ยง เราอยู่ในความเสี่ยง ความเสี่ยงในการแปรเปลี่ยนของภพภูมิต่างๆ พลัดพรากจากของรักของเจริญใจ พลัดพรากจากภพอันเป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เราเกาะ ที่เรายึด ที่เราหวงแหน พิจารณาจนกระทั่งเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความหมายว่า ดวงจิตทั้งหลายอันที่จริงแล้วก็เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนแต่ไม่แตกต่างกัน พิจารณาลอกสมมุติทุกอย่างออกไป สิ่งที่แบก สิ่งที่เป็นมานะ สิ่งที่เรายึด เราสลายลอกออกไปจนหมด
จากนั้นมาพิจารณาดูในของที่เป็นของหยาบ เราเอาเครื่องประทินโฉม มาพอก มาตกแต่ง มาบำรุงร่างกายให้ดูสวยงาม เอาเสื้อผ้า เอาเครื่องประดับมาสวมใส่ เป็นเปลือกให้ดูสวยงาม หรือแม้แต่เป็นเปลือกให้ดูดีมีฐานะ เป็นเปลือกที่ยกระดับตัวเรา คุณค่าในตัวเรา แต่ทุกสิ่งนั้นก็เป็นสมมุติทางโลกที่มีความจำเป็น แต่จิตของเรานั้น กำหนดรู้ว่าทุกสิ่งนั้นมันเป็นแค่สมมุติ เป็นมายา เป็นเปลือก ที่เราหรือบุคคลอื่น ทำให้สังคม ทำให้คนภายนอกยอมรับ เครื่องประดับ นาฬิกา แก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าแบรนด์เนม ทุกอย่างเป็นเปลือก เพื่อให้คนที่เขามองเห็นเขายอมรับ พิจารณารู้เท่าทันสภาวะความเป็นไปในเปลือกทั้งหลาย เพราะเราจะลอกเปลือกลงไปเรื่อยๆ เมื่อลอกเปลือกที่เป็นของหยาบ เป็นของภายนอกร่างกายออกไป เข้าใจมันแล้ว เราก็มาเข้าใจเปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายภายนอกที่สุด ที่เรียกว่ากรรมฐาน 5 ซึ่งเป็นคำภาวนาบริกรรม ที่จะต้องภาวนา
สำหรับพระที่กำลังจะบวช นั่นก็คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ แล้วก็ต้องสวดอนุโลมคือตามลำดับ แล้วก็ปฏิโลมคือย้อนทวน คือทวนกลับอีกครั้งหนึ่ง เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา ในขณะที่พิจารณา ก็พิจารณาลอกเอาผมออกไป ขนออกไป เล็บออกไป ฟันออกไป หนังออกไป เมื่อเปลือกภายนอกที่เป็นของที่แลดูสวยงาม หลุดร่อนออกไปจนหมด เราก็จะเห็นว่ากายเนื้อนี้ เมื่อถูกลอกออก ก็เหลือเป็นเนื้อหนังแดงๆทั่วร่างกาย เหตุที่เราหลงในร่างกาย เกิดกามคุณ เกิดกามราคะ เกิดความหลงในร่างกายของตัวเราเอง เกิดความหลงในร่างกายของเพศตรงข้าม ก็ล้วนมีเหตุที่มาจากผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่แหละ ให้เราพิจารณาให้ลึกซึ้ง ผมที่ดูสวยงาม บุรุษก็ติดใจในผมที่ยาวสลวยสวยงามของอิสตรี ผมที่สวยงาม ผิวที่เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไรขนที่นุ่มนวลอ่อนโยน เล็บที่สวยงามฉาบทาประดับตกแต่งจนเล็บนั้นมีความสวยมีเสน่ห์ ฟันที่ขาวเรียงสวยเหมือนกับสังข์ขัด ดังนั้นการตกแต่งในร่างกายจึงเป็นเรื่องปกติที่เป็นเครื่องดึงดูดให้เราหลง ให้เราพึงพอใจในเพศตรงข้าม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เราลองพิจารณาว่า เราหลงรักกายเนื้อ เลือดๆแดงๆ หรือว่าหลงรักผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ให้เราน้อมพิจารณา จนใจเกิดปัญญาสว่างกระจ่างแจ้ง รู้เท่าทันสภาวะ หากเลือดเนื้อแดงๆยังไม่ชัดเจน ก็ให้กำหนด ร่อนให้เห็น ภายใน ในอวัยวะอาการ 32 อาการ 32 อันได้แก่ การแจงพิจารณาละเอียดในอวัยวะทั้งปวงทั่วร่างกาย ไล่ตั้งแต่นอกเหนือจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นกระดูก เส้นเอ็น เส้นเลือด ตับ ไต ไส้พุง สมอง ปอด ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ให้เราพิจารณามองเข้าไปเห็นอวัยวะภายใน ตับ ไตต่างๆ เครื่องในต่างๆ แล้วก็พิจารณาต่อ ในน้ำเลือด น้ำหนอง เสมหะ ไขมันเหลวมันข้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะรวมอยู่ในอาการ 32 แต่อยู่ในหมวดของธาตุน้ำ ธาตุลมก็คือลมที่พัดพาภายใน ลมหายใจ ลมที่พัดอยู่ในช่องท้อง ธาตุไฟก็คือไฟที่เผาอาหาร ไฟธาตุต่างๆ พิจารณาให้เห็นในอาการ 32 แยกธาตุออก พอแยกธาตุในอาการ 32 ก็แยกเป็นกองใหญ่ออกมา ว่าร่างกายเนื้อ ขันธ์ 5 ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มีความร้อน
เมื่อตายไปแล้ว ลมหายใจดับก็คือธาตุลมมันดับ ต่อมาสิ่งที่ดับต่อ ก็คือ ธาตุไฟก็ดับ ที่เรียกว่าธาตุไฟแตก ธาตุไฟแตกดับไปแล้ว ตัวก็เย็นชืด ร่างกายก็ชืดก็แข็ง จนกระทั่งเกิดสภาวะ ที่เกิดความเน่าเปื่อย ธาตุน้ำแตกสลาย เกิดน้ำเหลืองน้ำหนอง ซึมซาบออกมาจากร่างกาย ปริแตกออกมาจากร่างกาย จนกระทั่งกลายเป็นธาตุดิน เหลือแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็ระเหยแห้งออกไปจนหมด จนกระทั่งเหลือแต่โครงกระดูก ค่อยๆกลายเป็นผุยผง สลายกลายเป็นอนัตตา ไร้แก่นสารไปจนหมด พิจารณาจนมองเห็นว่าร่างกายเนื้อ ขันธ์ 5 ที่แตกสลายออกไป ท้ายที่สุด เราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา เราคือจิตอาทิสมานกายที่มาอาศัยร่างกายขันธ์ 5 นี้
และหากเราพิจารณาขันธ์ 5 ให้ละเอียด ที่เราพิจารณาตัดร่างกาย พิจารณาในอาการ 32 นั่นคือส่วนที่เรียกในขันธ์ 5 ว่ารูป พิจารณาต่อไป คือเวทนา เวทนาต่างๆคืออะไร เวทนาต่างๆคือเมื่อกายมันตายไปแล้ว ความรู้สึกต่างๆคือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เย็น หอม เอร็ดอร่อย ไพเราะ ก็ไม่ปรากฏอีก เวทนาความร้อน ความเย็น ความหนาว ความสบาย มันก็สลายตัวไปหมดเพราะกายเนื้อคือรูป มันแตกดับ ตัดสัญญาณไปเรียบร้อย เวทนาต่างๆก็ดับตามไปด้วย สัญญาต่างๆความทรงจำทั้งหลายที่บันทึกอยู่ในสมอง ก็ตายก็สูญไปด้วย ในขณะเดียวกันเราพิจารณาต่อไป วิญญาณก็ดับไป คืออารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่มันปรากฏผูกพันกับกายเนื้อก็ดับไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับไปจนหมด เหลือเพียงจิต ที่ไปเสวยตามอารมณ์ อารมณ์สุดท้ายก่อนตายที่ส่งผล อารมณ์ที่สำคัญที่สุดคืออารมณ์สุดท้ายก่อนตาย
การไปจุติในภพต่างๆ ประกอบไปด้วย 2 ลักษณะ การจุติโดยฉับพลันคืออารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตายที่ตั้งจิตมุ่งมาดปรารถนา หรือจิตมีความเข้มข้นในอารมณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นเหตุ ที่ไปจุติในภพภูมิตามอารมณ์สุดท้ายก่อนตายนั้น เช่นอารมณ์สุดท้ายก่อนตาย มีความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทจองเวรอย่างแรง จิตก็ไปเกิด ไปจุติ ไปจองล้างจองผลาญคนที่เราตั้งใจเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขา หรือหากจิตเห็นภาพแต่บาปกรรมทำชั่วที่เราเคยสร้างที่เราเคยทำ เห็นภาพความผิดต่างๆ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกบาปเกาะกุมมาก จิตเห็นแต่อกุศลที่ทำ ก็นำพาให้เราไปจุติ ยังภพที่ต้องเสวยวิบากกรรมหรือร่วงลงสู่นรก
หรือในขณะเดียวกัน หากจิตสุดท้ายของเรา จดจ่อรำลึกนึกถึงแต่บุญกุศล ทานศีลที่เราสร้าง อารมณ์จิตสุดท้ายก็นำพาให้เรา ไปจุติยังสวรรค์ในชั้นต่างๆอันสมควรแก่อารมณ์จิตเรานั้น หากอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตายเราบำเพ็ญภาวนา เราภาวนาพุทโธบ้าง สัมมาอะระหังบ้าง กำลังจิตกำลังใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้าบ้าง จิตของเราก็ไปจุติยังพรหมโลก แต่หากอารมณ์ใจของเรา ในอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย เรานึกถึงว่าเรายกจิตขึ้นมาอยู่กับพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน จิตสุดท้ายก่อนตายก็นำพาให้เรามาปรากฏ มาจุติอยู่บนพระนิพพาน คือ กายเนื้อตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่อาทิสมานกายเรามาปร๋อ เรามาอยู่บนพระนิพพานเรียบร้อยไปแล้ว เราก็เท่ากับจิตสุดท้ายเราเข้าสู่อรหัตผลในจิตสุดท้ายก่อนตายนั่นเอง
ส่วนอีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทที่ว่า มีนายนิรยบาลมารับตัว นั่นก็คือในอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย มีนายนิรยบาลมาปรากฏ มานิมิตให้เห็นเป็นร่างกาย มารอรับดวงวิญญาณเรา ซึ่งหากนายนิรยบาลนั้นมารับ ส่วนใหญ่แล้วก็รับตัวไปที่สำนักพระยายมต่อ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ไปถึงสำนักพระยายม ท่านพญายมราชก็จะสอบถามว่า ในสมัยที่มีชีวิตอยู่นั้น เราเคยสร้างบุญสร้างกุศลไหม ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ท่านเมตตา ปราณี ตามวิสัยที่ท่านเป็นพรหม ท่านถามเพื่อที่หากว่าเรายังมีบุญกุศลหนุนนำอยู่บ้าง เราก็จะตอบท่านว่าเราเคยสร้างพระชำระหนี้สงฆ์บ้าง สร้างพระพุทธรูปบ้าง เจริญพระกรรมฐาน เคยฝึกมโนมยิทธิอยู่บ้าง ซึ่งหากกำลังจิตของเราเคยปฏิบัติอยู่เช่นนั้น จิตสามารถตอบได้ ว่าเราเคยทำบุญสร้างกุศล นึกถึงกุศลได้ ท่านก็จะให้เราไปเสวยผลบุญก่อน ซึ่งเป็นการช่วย
ในขณะเดียวกัน บางบุคคลจิตสุดท้ายก่อนตาย ถึงแม้ว่าเคยทำบุญมาบ้าง แต่บาปกรรมอกุศลมาตัดรอน เกิดความกลัว เกิดความประมาท จิตเกิดความกลัวจัด นึกถึงบุญไม่ได้ นึกถึงบุญไม่ออก นึกถึงกุศลไม่ได้ เนื่องจากทำมาน้อย ทำมาโดยที่จิตไม่มีความเข้มข้นหนักแน่นในอารมณ์ที่เกาะในบุญกุศล ทำแบบขอไปทีบ้าง ทำแล้วปล่อยวาง ทำแล้วไม่กรวดน้ำ ทำแล้วไม่ได้อธิษฐาน ทำแล้วใจเฉยๆ ไม่รู้สึกยินดีในบุญที่ทำ อารมณ์ใจเกิดลืมเลือน ถึงเวลาถ้านึกไม่ออกจริงๆ ช่วยไม่ได้จริงๆ พระยายมราชท่านก็จำเป็นที่จะต้องให้ลงนรกไปก่อน ยกเว้นแต่ว่าบุคคลนั้นเคยอธิษฐานมาก่อนว่า ทุกครั้งที่สร้างบุญสร้างกุศล ขอให้พระยายมราชท่านเป็นประธาน ท่านเป็นพยานในการบุญการกุศลของข้าพเจ้าทุกครั้ง ไม่ว่าจะจำได้จำไม่ได้ กรวดน้ำหรือไม่ก็ตาม
ซึ่งอยู่ในคำสอนของหลวงพ่อฤาษีพระราชพรหมญาณท่านวางไว้ ท่านบอกสอนวิธีปิดนรกไว้ ซึ่งหากจะเป็นลูกหลานหลวงพ่อก็รอดจากอบายภูมิซะส่วนใหญ่ ส่วนบางบุคคลถึงเวลาที่ตาย อารมณ์จิตอยู่ในช่วงอุปจารสมาธิ ตามที่บอกว่าเห็นนิมิตบ้าง มีนายนิรยบาลมารับบ้าง ส่วนที่เป็นกุศล บางครั้งบุคคลนั้น ก็จะเห็นว่ามีเทวดา มีพรหมท่านมารับ หรือบางคนอยู่ในหลายวิสัย เคยมีประวัติที่บันทึกในหนังสือกฎแห่งกรรม เคยเล่าให้ฟังว่า เคยมีบุคคลหนึ่งเป็นผู้ที่ประกอบอยู่ในกุศล อยู่ในความดี ในวาระสุดท้ายก่อนตาย ในห้องผู้ป่วย ในขณะนั้นผู้ป่วยก็มีสติ แต่ใกล้ตายเต็มที ลูกหลานก็ซื้อพวงมาลัยมาให้ไหว้พระ อธิษฐานลาตาย ในขณะช่วงสุดท้าย ผู้ป่วยซึ่งหมอก็บอกว่าเพ้อด้วยพิษป่วย บอกว่าตอนนี้เทวดามาเต็มไปหมด มีทั้งเทวดาที่มาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีทั้งเทวดาที่มาจากชั้นยามา มีทั้งเทวดาที่มาจากชั้นจาตุมหาราชิกา มาพร้อมกับขบวนราชรถ มารับ แล้วแต่ละชั้นต่างก็ชวนว่ามาอยู่กับฉัน มาอยู่กับฉัน มาอยู่กับฉันเถอะ เนื่องจากมีเพื่อนที่เป็นเทวดาทั้งหลายมารับ แต่เจ้าตัวก็เกิดพึงใจ บอกว่าฉันอยากอยู่ดาวดึงส์ แล้วก็โยนพวงมาลัยขึ้นไปในอากาศ ภาพที่ผู้ป่วยเห็นก็บอกว่าตอนนี้พวงมาลัยไปคล้องอยู่ที่งอนรถของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่นำราชรถมารับ แต่ในภาพที่ปรากฏที่คนเขาเห็น ก็คือเห็นพวงมาลัยลอยอยู่ในอากาศค้างอยู่ ลอยนิ่งค้างอยู่ในอากาศ จากนั้นผู้ป่วยก็ยิ้มด้วยความปีติยินดี แล้วก็สิ้นใจ นั่นก็คือไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามที่ตั้งจิตไว้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
หรือบางเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องราวที่บุคคลที่เป็นลูกศิษย์สายหลวงพ่อ มีท่านที่มารับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติที่จะเล่าให้ฟังก็คือท่านที่มารับนี้ เป็นเรื่องประวัติของพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิตในอารมณ์สุดท้ายก่อนตาย มีนิมิตกำหนดเห็น บอกว่าขอกราบบังคมลาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทูลกระหม่อม ขอกราบทูลลา ทูลกระหม่อม ตอนนี้หญิงขอลาไปพระนิพพาน ตอนนี้สว่างมากๆ พระพุทธเจ้าเสด็จมาเต็มไปหมด แล้วพระองค์ท่านก็ทรงมีใบหน้ายิ้ม มีความเอิบอิ่มเต็มที่ แล้วก็ทรงสิ้นพระชนม์ ซึ่งอารมณ์จิตนี้ก็ปรากฏ หากเราน้อมจิตตามดูในนิมิต ดูในความเป็นทิพย์ นั่นก็คือมีปรากฏขบวนของพระพุทธองค์ ขบวนของพระนิพพาน ทรงเสด็จมารับพระองค์เจ้าหญิงไปพระนิพพาน ซึ่งในความเป็นทิพย์ของจิตในจิตสุดท้าย ในอารมณ์ที่เป็นอุปจาร อารมณ์ท่านใกล้ตาย ท่านก็เห็นภาพพุทธนิมิตที่ปรากฏ ปรากฏทั้งความสว่างชัดเจน ปรากฏภาพพระพุทธองค์ที่ทรงเสด็จมารับชัดเจน อันนี้ก็คือจิตสุดท้ายทั้งหมดก่อนตาย หากเราเข้าใจพิจารณาแล้ว หนึ่ง อารมณ์จิต ยิ่งเราทรงในอารมณ์พระนิพพานบ่อยเข้า บ่อยเข้า เราอธิษฐานขอพระพุทธองค์ หากอารมณ์สุดท้ายก่อนตายลูกไม่สามารถทรงอารมณ์บนพระนิพพานได้ ก็ขอให้พระพุทธเจ้าทรงเมตตา เมตตาเสด็จมารับ ให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานได้ ดังที่จิตปรารถนา หากเราตั้งจิตไว้เช่นนี้ ก็จะปรากฏผลขึ้นเหมือนอย่างตัวอย่างที่เล่า คือพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีท่านปรากฏและเข้าพระนิพพานในสภาวะเช่นนี้
ให้เราแต่ละคนน้อมจิตน้อมใจนะตอนนี้ว่า ด้วยความเพียรที่ข้าพเจ้าทั้งหลายตั้งจิตในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพนะ ด้วยความเพียรที่ลูกทั้งหลายยกจิตขึ้นมาอยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพานเป็นนิจ ทุกเช้าค่ำ ทุกวัน ด้วยอารมณ์จิตที่ข้าพเจ้ามีความเคารพ มั่นคงในพระรัตนตรัย ด้วยจิตข้าพเจ้าที่ตั้งไว้จุดเดียวในพระนิพพาน หากแม้นในอารมณ์จิตสุดท้ายของข้าพเจ้า ไม่อาจทรงอารมณ์ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเป็นด้วยเวทนากล้าก็ดี จะเป็นวาระเหตุการณ์ปุบปับในการดับขันธ์เสียชีวิตของข้าพเจ้าก็ดี ขอพระพุทธองค์ทรงเมตตา ขอหลวงพ่อ หลวงปู่ พระอรหันต์ขีณาสพทุกพระองค์ท่านเมตตา ครูบาอาจารย์พระอรหันต์บนพระนิพพานท่านเมตตา พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ท่านเมตตา มารับดวงจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่พระนิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า
จากนั้นน้อมจิตนะ ต้องทำเหตุให้สมกับผล หากเราปรารถนาซึ่งพระนิพพาน เราก็ต้องขยันยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน เมื่อเราจิตตั้งมั่นผูกพันจดจ่ออยู่กับพระนิพพานเป็นจุดเดียว ถึงเวลาจิตเขาจะรวมตัวโดยอัตโนมัติ ในอารมณ์พระนิพพาน ไม่คลาดจากพระนิพพานไปได้ ก็ให้จิตของเราทุกคน เมื่อตัดร่างกาย ตัดเปลือก ตัดภพ ตัดภูมิ ทั้งหลายแล้ว ก็ให้จิตของเรายินดีอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด จิตน้อมยินดีกับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าขอน้อมเอากำลังกรรมฐานนี้ น้อมเป็นกระแสเมตตาส่งลงมายังบ้านเมือง น้อมลงมา เสริมกำลังขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ลงมาเสริมกำลังพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองดั่งสมัยพุทธกาลอีกครั้ง ขอกระแสวิปัสสนาญาณ ขอกระแสธรรม ขอกระแสจากพระนิพพาน ข้าพเจ้าขอน้อมจิตโดยตรงจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ เป็นกระแสธรรม กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน ส่งตรงลงมา ยังโลกมนุษย์ ให้กระแสธรรมขับเคลื่อนโลกเข้าสู่ยุคแห่งชาววิไล ผู้มีใจสูง ผู้มีใจในเมตตา ผู้มีใจในธรรม อย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ
ขอกระแสบุญที่เราฝึก ที่เราปฏิบัติ จงรวมตัวกันเป็นอภิจิต ส่งผล เปิดยุคชาววิไลอย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ น้อมกระแสสว่าง น้อมกระแสจากพระนิพพานเป็นกระแสลำแสง เป็นคลื่น เป็นกระแสบุญลงมายังโลก มายังประเทศไทย น้อมหนุนพระบารมีของรัชกาลที่ 10 ท่าน จิตที่มีความกตัญญูต่อชาติ บ้านเมือง ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอให้เกิดความเจริญในธรรม ความรุ่งเรืองจงปรากฏ ทั้งทางโลกทางธรรมกับเราทุกคน
จากนั้นน้อมจิต แยกอาทิสมานกายเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเท่ากับทุกท่านบนพระนิพพาน น้อมถวายพานดอกบัวแก้ว น้อมถวายกระแสกุศลเป็นปฏิบัติบูชา ต่อทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม ครูบาอาจารย์ทุกองค์ กราบแทบเบื้องพระบาททุกพระองค์ จิตนอบน้อมเคารพ
จากนั้นจึงกำหนดจิต ยกจิตกลับมายังกายเนื้อบนโลกมนุษย์ หายใจเข้าลึกๆ 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 หายใจเข้าพุท ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ จากนั้นจึงตั้งจิตโมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน โมทนาสาธุกับผู้ที่มาปฏิบัติ มาฟังในภายหลัง แล้วเราก็ตั้งใจเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน เขียนแผ่นทองอธิษฐานเพื่อให้จิตยิ่งบันทึกกำลังแห่งบุญตั้งมั่น เพื่อให้จิตยิ่งปักแน่นจดจ่ออยู่กับพระนิพพานเป็นปณิธานอันแรงกล้า ขอให้ทุกคนก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรม รวยชาตินี้ นิพพานชาตินี้ คล่องตัวทุกด้าน ทุกอย่าง ทุกประการ พลิกชีวิตอย่างอัศจรรย์ในเร็ววันด้วยเทอญ สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว พบกันในสัปดาห์ต่อไป ขอให้เราทุกคนในวันธรรมดาก็จงตั้งใจฝึก ตั้งใจปฏิบัติ ด้วยสติ ด้วยความตั้งมั่น มีความเพียรพร้อม มีพละ 5 ปัญญาคมกล้า ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : Be Vilawan